เตรียมเรื่องการเงินให้พร้อม...ก่อนคิดจะลาออก

รายการ Money Plus ออกอากาศทาง FM.101 ทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ 15.00-17.00 น.
ประจำวัน เสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2557
ดำเนินรายการโดย คุณยุทธนา กระบวนแสง

บทสนทนา
คุณยุทธนา   : สวัสดีครับเหมี่ยวครับ
คุณฉัตรพงศ์ : สวัสดีครับพี่ยุทธและท่านผู้ฟังครับ
คุณยุทธนา   : เดี๋ยวนี้ผู้คนมักจะเออรี่รีไทร์ด้วยอายุน้อยลงกว่าเมื่อก่อนเหมี่ยวว่าไหมครับ
คุณฉัตรพงศ์ : คนใกล้ๆ ตัวก็มีเหมือนกันครับ
คุณยุทธนา   : คนที่เตรียมที่ลาออกจากงานเพื่อจะไปเป็นเถ้าแก่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือว่า เปลี่ยนงานใหม่  ในเรื่องการเงินมันมีสิ่งที่ต้องคิดต้องคำนวณให้ดีก่อนไหมว่าเราพร้อมหรือ ยังที่เราจะลาออก
คุณฉัตรพงศ์ : การเออรี่รีไทร์แบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยง  คือจากเดิมที่เราทำงานได้เงินเดือนก็รู้อยู่แล้วสิ้นเดือนจะได้เท่าไหร่  กลายเป็นว่าเออรี่ปุ๊บรายได้เข้ามาไม่แน่นอนแล้ว  และในทางกลับกันบางทีเราเคยได้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากนายจ้าง  เวลาออกไปปุ๊บสวัสดิการบอกว่าไม่มีแล้ว  จะต้องจ่ายด้วยตัวเอง  ค่ารักษาพยาบาลบางทีก็อาจจะไม่น้อย  ดังนั้นก่อนที่จะเออรี่รีไทร เช็คตัวเองให้พร้อมก่อนในเรื่องของการเงินซึ่งก็จะเป็นหัวข้อที่เรามาคุยกัน ในวันนี้

คุณยุทธนา   : วิธีแก้ไขคืออะไรครับ
คุณฉัตรพงศ์ : ก็คือมีการทำอาชีพเสริมได้จริงๆ ก็ควรทำเตรียมไว้เป็นการปูทางให้เรา  คือเมื่อพร้อมเมื่อไหร่ อาชีพเสริมสามารถสร้างรายได้ได้อย่างเสถียรค่อยออกตอนนั้นยังไม่สาย  คราวนี้ก็มีคำถามว่าสำหรับคนที่ไม่มีอาชีพเสริมทำล่ะจะทำยังไงดี  จริงๆ ก็ต้องเล่าเรื่องเพื่อนของผมคนหนึ่งก็เรียกว่าลาออกมาจากที่ทำงานเดิม  ตอนนั้นเงินเดือนไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท  แต่ก็ตัดสินใจลาออกโดยที่ตัวเองก็ไม่เคยทำอาชีพเสริมอะไรมาก่อน  เขาลาออกไปขายประกันแต่ที่น่าสนใจคือเขาตัดสินใจลาออกเลย  ไม่มีอะไรรองรับเลย  ผมสงสัยมากเลยถามว่าตกลงเลี้ยงชีพได้ยังไง  แต่เดิมมีเงินเป็นแสน  เขาบอกไม่มีปัญหาอะไรมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว  เทคนิคของเขาคือว่าเขามีการซื้อคอนโดมาแล้วก็ปล่อยให้เช่า  มีรายได้จากค่าเช่าคอนโด  คอนโด 2 ที่ด้วยนะครับ  กรุงเทพที่หนึ่ง หัวหินที่หนึ่ง  คือในแต่ละเดือนเรียกว่าได้รายได้มาเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว  ดังนั้นเขาบอกว่าเขาใช้เวลาที่เหลือในการทำสิ่งที่เขาชอบได้เลย  จะให้คำปรึกษาการเงิน  จะไปขายประกันเขาสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะขายได้ไหม  ตัวนี้เรียกว่า แพสซีฟอินคัม  คือต้องบอกว่าการที่เราทำงานได้เงินเดือนปกติเรียกว่า แอคทีฟอินคัม  ต้องทำถึงจะได้  แพสซีฟอินคัมคือการที่เราหารายได้จากสินทรัพย์ที่เราสร้างมาอยู่แล้ว  อย่างกรณีของคอนโดเป็นกรณีหนึ่ง  ปล่อยคอนโดให้เช่าคอนโดจะสร้างรายได้ให้กับเราเรื่อยๆ  อันนี้คือเป็นแพสซีฟอินคัม

 บางคนบอกว่าไม่มีคอนโดใช้วิธีในการลงทุนก็ได้นะครับ  ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในพันธบัตรหรือว่าลงทุนในหุ้นแล้วเราไดเงินปันผลกลับ คืนมา  ลงทุนกองทุนรวมได้เงินปันผลนี่คือลักษณะของแพสซีฟอินคัม  ดังนั้นหลักการง่ายๆ ก่อนที่เราจะลาออกเช็คก่อนว่าแพสซีฟอินคัมมีเพียงพอแล้วหรือยัง  คราวนี้คนก็จะถามต่ออีกแล้วต้องมีสินทรัพย์เยอะขนาดไหนถึงจะมีแพสซีฟอินคัม พอ  คือมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปลงทุนรูปแบบไหน  สมมติยกตัวอย่างเช่นง่ายๆ ไม่ได้ทำอาชีพเสริม  ไม่ได้มีคอนโดหรือว่าลงทุนอย่างเดียว  กองทุนแบบความเสี่ยงต่ำคือกองทุนรวมตลาดเงินหรือ Money Market Fund  ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณสัก 2.5% ต่อปี  ก็ลองคำนวณดูถ้าเกิดเราจะมีเงินต่อเดือนมาสักประมาณ 1 หมื่นบาทเราจะต้องมีการลงทุนใน Money Market Fund  กองไว้จำนวน 5 ล้านบาท  ดังนั้นใครก็ตามบอกว่าอยากมีรายได้เยอะกว่านั้น  อย่างเช่นว่ามีแพสซีฟอินคัม 3 หมื่นบาทต่อเดือน  ตรงนี้ก็ต้องมีเงินกองไว้ใน Money Market Fund  จำนวนทั้งสิ้น 15 ล้านบาท  นี่แหละครับเป็นเช็คลิสต์

คุณยุทธนา   : แต่ถ้าเกิดว่าเป็นคอนโดถ้าปล่อยเช่า  ผลตอบแทนประมาณสัก 7% ต่อปีใช่ไหมครับ
คุณฉัตรพงศ์ :  ผลตอบแทนสัก 6-7% ต่อปีได้ครับ  คราวนี้ถ้าเราลองคำนวณกลับ  คืออยากมีรายได้เดือนละ1 หมื่นบาท  มูลค่าของคอนโดน่าจะอยู่ที่ประมาณสัก 2 ล้านบาท  มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่น  ดังนั้นใครอยากมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นบาท  คอนโดมูลค่า 6 ล้านบาทน่าจะเพียงพอที่จะช่วยตอบโจทย์ได้  เขาเรียกว่าเป็นกลวิธีในการเตรียมแพสซีฟอินคัมให้พร้อม  ดูแลเรื่องรายได้ก่อนที่จะลาออก

คุณยุทธนา   : ไปดูประเด็นต่อไปก็คือเรื่องสวัสดิการซึ่งตอนกินเงินเดือนก็มีอยู่  แต่พอเราลาออกสวัสดิการต่างๆ นอกเหนือจากประกันสังคมมันก็จะหายไปเลยนะ  อย่างค่ารักษาพยาบาลหรือการประกันอุบัติเหตุบางส่วน  อันนี้เราควรหาทดแทนไว้ก่อนด้วยใช่ไหมครับ
คุณฉัตรพงศ์ : จริงๆ ควรครับ  คือจะว่าไปเรื่องนี้สำคัญ  อย่างผมเองรู้ตัวเองคือว่าผมไปหาหมอค่อนข้างบ่อยคือมีโรคประจำตัวก็เรียกว่า ปีๆ หนึ่งเสียค่าหมอหลายหมื่น  แต่พอดีเบิกแบงก์ได้เซฟเงินไป  แต่สำหรับคนที่บอกว่าลาออกมาเองแล้วดูแลตัวเอง  ต้องหาสิ่งที่มาชดเชยในเรื่องนี้  ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ 2 แนวทาง  แนวทางแรกคือการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐซึ่งคือการทำประกันสังคมนั่นเอง  คือตอนสมัยที่เราเป็นลูกจ้างอยู่เราจะถูกเรียกว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือเราจะมีการจ่ายเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ750บาท  นายจ้างก็ช่วยเราสมทบเงินเข้าไปในส่วนนี้ด้วย  ทำให้เราได้สวัสดิการตัวหนึ่งมาเรียกว่าสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล  เป็นผู้ป่วยนอก  เป็นผู้ป่วยในตรงนี้เราได้ค่ารักษาพยาบาลหมด  บางทีนายจ้างใจดีก็คือบอกว่ามีค่ารักษาพยาบาลส่วนหนึ่งแถมมาให้อีกต่างหาก  แต่ว่าเวลาเราลาออกสิทธิที่เราได้จากประกันสังคมจะหายไปเพราะว่านายจ้างเลิก ส่งเงินเข้าแล้ว  ถามว่าจะแก้ยังไง  แก้ง่ายๆ ครับคือเราไปสมัครเป็นผู้ประกันตนเอง  อันนี้สามารถทำได้จะเรียกว่าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39

คุณยุทธนา   : เดือนหนึ่งจ่ายเยอะไหมครับ
คุณฉัตรพงศ์ : เดือนหนึ่งจ่ายแค่ประมาณ 432 บาทเท่านั้นเอง  แต่มีเงื่อนไขที่จะต้องทราบคือเวลาเราลาออกปุ๊บต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนภาย ใน 6 เดือนถึงจะได้เงื่อนไขตามมาตรา 39  ข้อสองคือช่วยเหลือด้วยตัวเองคือไปซื้อประกันสุขภาพ  ซื้อประกันต่างๆ ด้วยตัวเอง  อย่างน้อยผมว่าสิ่งที่ควรมีคือประกันโรคร้ายแรง  ประกันอุบัติเหตุก็ควรมี  จริงๆ ควรมี ทั้ง 2 อย่างเลยเพราะว่าโรคร้ายแรงเวลาเกิดเหตุใช้เงินเยอะนะครับ  แต่ว่าเวลาเราจ่ายเบี้ยประกันจ่ายแค่ประมาณหลักพัน  ซึ่งทำแล้วมันคุ้มกว่ากันเยอะ
คุณยุทธนา   : บางคนอยากจะลาออก  อยากจะเออรี่ก่อนอายุ 55 แต่ก็เคยลงทุน RMF เอาไว้ทำยังไงดีครับ
คุณฉัตรพงศ์ : บางคนบอกว่าลาออกก่อนอายุ 55 ทำยังไงดี  คือจำเป็นที่จะต้องซื้อ RMF อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า  จริงๆ ควรซื้ออย่างต่อเนื่อง  คือถ้าเรามองดูแล้วเวลาเราลาออกมาเราไม่ได้ลาออกแล้วไม่มีรายได้  นั่งอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น  คือเราลาออกมาเพื่อที่จะหางานทำต่อ  แปลว่าในแต่ละปีเรายังคงมีรายได้เข้ามาอยู่  ดังนั้นก็ควรรักษาสิทธิการลงทุนใน RMF ด้วยการซื้ออย่างต่อเนื่องทุกปี  ซื้อขั้นต่ำก็ได้ครับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 3% ของรายได้หรือ 5,000 บาทแล้วแต่อย่างใดจะต่ำกว่า  แต่ถ้าเกิดจำง่ายๆ ผมว่าซื้อไปเลยครับ 5,000 บาททุกปีๆ ซื้อไปเรื่อยๆ

คุณยุทธนา   : แต่ถ้าเราหยุดซื้อRMF เพราะเราไม่มีรายได้จริงๆ อันนี้ทำได้ไหม
คุณฉัตรพงศ์ : จริงๆ สามารถทำได้ครับ  เพียงแต่ว่ามันก็จะเสียสิทธิเรื่องการนับอายุปี  เวลาเขานับอายุปีไม่น้อยกว่า 5 ปีนับเฉพาะปีที่เราซื้อเกิดปีไหนเราไม่ได้ฟันหลอขึ้นมาปีนั้นเราจะไม่ได้มี การนับอายุ RMF  อีกอย่างที่ต้องระวังก็คือว่าถึงเราไม่ซื้อ RMF ก็ตามด้วยเหตุที่เราไม่มีรายได้  ปีนั้นยังจำเป็นที่จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.อยู่โดยที่ถึงแม้รายได้เป็นศูนย์ก็ต้องยื่น  เพราะเป็นการรีจิสเตอร์หรือว่าลงทะเบียนในระบบกรมสรรพากรว่าปีนี้ไม่มีราย ได้จึงไม่ได้ซื้อ RMF
คุณยุทธนา   : อีกประเด็นหนึ่ง  มนุษย์เงินเดือนที่อยู่กับบริษัทที่มีกองทุนเลี้ยงชีพอันนี้ถือว่าเป็นสวัสดิการจากนายจ้างเลยใช่ไหมครับ
คุณฉัตรพงศ์ : ต้องเรียกว่าประมาณสัก 1 ใน 5 ของแรงงานในระบบเท่านั้นครับถึงมี Provident Fund ดังนั้นใครก็ตามที่มีส่วนนี้ไว้ถือว่าคุณเป็นผู้โชคดี  คำถามจะเกิดว่าตกลง Provident Fund คือเราออกก่อนที่จะเกษียณคือก่อนที่อายุครบ 55 มันก็จะเกิดผลอะไรบ้าง  จริงๆ แล้วจะว่าไปคือเงิน Provident Fund ส่วนหนึ่งถ้าเกิดเราถือยาวไปจนถึงอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วก็เป็นสมาชิกกองทุนมาค่อนข้างนาน  ตรงนี้กรมสรรพากรจะให้สิทธิตัวหนึ่งเรียกว่าสิทธิในการยกเว้นรายได้  คือเงินที่ถอนมาจาก Provident Fund ได้รับสิทธิว่าไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ของเรา  แปลว่าไม่ต้องเสียภาษีทั้งก้อนเลยนั่นเอง  แต่สำหรับคนที่มีการเออรีรีไทร์ลาออกก่อนอายุ 55 ปี  ยังไงก็ต้องภาษีอยู่ดี  เพียงแต่ว่าจะเสียมากเสียน้อยมันต้องดูเงื่อนไขอื่นประกอบเรียกว่าอายุการ ทำงาน  ซึ่งเขาจะมีเกณฑ์ไว้ 2 อัน  คืออายุงานน้อยกว่า 5 ปีกับอายุงานมากกว่า 5 ปี  ถ้าเกิดอายุงานน้อยกว่า 5 ปีเวลาเราถอนเงินจาก Provident Fund เงินมันจะออกมา 4 ส่วน ส่วนแรกคือเงินที่เราใส่เข้าไปเรียกว่าเงินต้นของเรากับผลประโยชน์ที่เกิด จากเงินต้นของเรา  อันนั้นเป็น 2 ส่วนแรก  2 ส่วนหลังคือเงินที่เกิดจากนายจ้างเรียกว่าเงินที่นายจ้างช่วยเราสมทบเป็น เงินต้น  กับผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง  เวลาเงินตรงนี้ออกมาเรานำ 3 เรื่องมาใช้  คืออย่างแรกผลประโยชน์จากเงินออมของเรา  อย่างที่ 2 คือเงินสมทบของนายจ้าง  และอย่างที่ 3 ก็คือผลประโยชน์จากเงินสมทบของนายจ้าง 3 ส่วนนี้นำมารวมกันแล้วถือว่าเป็นรายได้ที่เราจะต้องยื่นในแบบ ภ.ง.ด. ตามปกติ  แปลว่าฐานภาษีเราเท่าไหร่เสียตามนั้นเลยครับสำหรับคนที่อายุการทำงานน้อย กว่า 5 ปีแล้วลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาก่อน  พอในส่วนที่ 2 บอกว่าอายุการทำงานมากกว่า 5 ปี  ตรงนี้เรายังต้องเสียภาษีอยู่แต่ว่าจะมีสิทธิพิเศษคือเรียกว่าเสียภาษีในใบ แนบ  คำว่าใบแนบเรานำก้อนเงิน 3 ก้อนมารวมกันทั้งผลประโยชน์จากเงินสะสมของตัวเราเอง  เงินสมทบจากนายจ้างและผลประโยชน์เงินสมทบจากนายจ้าง  นำมารวมกันมันจะมีสูตรการคำนวณแบบพิเศษ  เรียกว่าเอา 7,000 คูณอายุงาน  แล้วก็เอาไปหักกับจำนวนเงินก้อนนั้น  เหลือเท่าไหร่เอามาหารครึ่ง  ส่วนที่เหลือถึงค่อยนำมาอยู่ในใบแนบเพื่อที่จะเตรียมเสียภาษีนั่นเอง  ก็เรียกว่าช่วยลดทอนจำนวนเงินที่เราจะต้องเสียภาษีลงได้ค่อนข้างเยอะเลยที เดียว  ดังนั้นใครก็ตามถ้าบอกว่าอยู่ยังไม่ถึง 5 ปี หรือว่า 4 ปีนิดๆ อดใจรอให้ถึง  5 ปีก่อนนะครับแล้วค่อยออกมา  ช่วยประหยัดภาษีลงได้ครับ
คุณยุทธนา   : อยากให้เหมี่ยวสรุปเลยครับว่าก่อนคิดจะลาออกต้องเตรียมให้พร้อมทางด้านการเงิน  ต้องเตรียมความพร้อมด้านไหนยังไงครับ

คุณฉัตรพงศ์ : ก็เรียกว่าเป็นเช็คลิสต์ 5 ข้อแล้วกันครับ
ข้อแรกคือมีสินทรัพย์เพียงพอที่จะสร้างแพสซิฟอินคัมให้เราถึงขนาดที่เรา ยังไม่มีรายได้จากการทำงานก็ยังเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยรายได้แบบนี้
อันดับที่ 2 ก็คือว่า อย่าลืมในการที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังจากที่เราลาออกเพื่อที่จะได้สิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุน ประกันสังคมอยู่
อันดับที่ 3 คืออย่าลืมในเรื่องของการทำประกันต่างๆ ทั้งสุขภาพ  โรคร้ายแรงรวมทั้งอุบัติเหตุ  อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
อันดับที่ 4 RMF ถ้าเป็นไปได้ออกมาปุ๊บยังไงก็ควรซื้ออย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ5,000บาท  จนกว่าจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
สุดท้ายสำหรับท่านที่มี Provident Fund ก็พยายามลาออกมาในช่วงที่มีอายุงานเกิน 5 ปีแล้วเพราะว่าจะได้เสียภาษีไม่ได้แพงมากเท่าไหร่
คุณยุทธนา   : ถ้ามีคำถามและอยากสอบถามโดยตรงไปยัง K-EXPERT ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทำได้รูปแบบไหนวิธีไหนได้บ้างครับ
คุณฉัตรพงศ์ : ทำได้ 2 ช่องทาง  ช่องทางแรกคืออีเมล์หาเราเลยครับที่ k-expert@kasikornbank.com หรืออีกทางหนึ่งคือโทรศัพท์มาหาเราก็ได้ที่เบอร์ 02-888-8888  และกด 09 เป็นสายตรงของ K-EXPERT ครับ
คุณยุทธนา   : วันนี้ขอบคุณอย่างสูงเลยนะครับเหมี่ยวครับ
คุณฉัตรพงศ์ : ขอบคุณครับพี่ยุทธและท่านผู้ฟังครับ
คุณยุทธนา   : สวัสดีครับ
คุณฉัตรพงศ์ : สวัสดีครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต